วันอังคารที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

จังหวัดชลบุรี ด.ช.ภาณุพัฒน์ ศักดิ์รุ่งเรือง




สัญลักษณ์ และคำขวัญประจำจังหวัดชลบุรี
Minimize
ตราประจำจังหวัดชลบุรี
ตราจังหวัดชลบุรีเป็นรูปภูเขาอยู่ริมทะเล  แสดงถึงสัญลักษณ์สำคัญ 2 ประการของจังหวัด  คือ “ทะเล”  หมายถึงความเป็นเมืองชายทะเลที่อุดมสมบูรณ์  และ “รูปภูเขาอยู่ริม ทะเล” หมายถึงเขาสามมุข  อันเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าแม่สามมุขอันศักดิ์สิทธิ์   เป็นที่เคารพของชาวชลบุรี  ตลอดจนประชาชนทั่วไป  ซึ่งต่างมีความเชื่อตรงกันว่า ศาลเจ้าแม่สามมุขสามารถดลบันดาลให้ความคุ้มครองผู้ที่มาเคารพกราบไหว้ให้พ้น จากภยันตรายต่างๆได้  โดยเฉพาะการออกไปประกอบอาชีพจับปลาในท้องทะเล      เขาสามมุขจึงกลายเป็นปูชนียสถานและสัญลักษณ์สำคัญยิ่งแห่งหนึ่งของชาวชลบุรี มาโดยตลอด

คำขวัญประจำจังหวัด

“ทะเลงาม  ข้าวหลามอร่อย   อ้อยหวาน  จักสานดี  ประเพณีวิ่งควาย”
ดอกไม้และต้นไม้ประจำจังหวัด

ดอกไม้และต้นไม้ประจำจังหวัดชลบุรี  คือ  ประดู่ป่า  ชื่อวิทยาศาสตร์  Pterocarpus  macrocarpus  Kurz  พรรณไม้ชนิดนี้จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว  (Papilionoideae)  เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่  สูง 15-25 เมตร  เปลือกต้นสีน้ำตาลดำแตกเป็นสะเก็ด  แผ่นใบประกอบแบบขนนกเรียงสลับ  มีดอกระหว่างเดือนมีนาคม-เดือนเมษายน  โดยลักษณะดอกออกเป็นช่อที่ซอกใบ  กลีบดอกสีเหลืองอ่อน  และมีกลิ่นหอมอ่อนๆ  สำหรับการนำไปใช้ประโยชน์  เช่น  เนื้อไม้ใช้ปลูกสร้างอาคารบ้านเรือน  แก่นให้สีแดงคล้ำใช้ย้อมผ้า  เปลือกให้น้ำฝาดชนิดหนึ่งใช้ย้อมผ้าได้ดี  ใบผสมกับน้ำใช้สระผม  และประโยชน์ในทางสมุนไพร  คือ  แก่นมีรสขมฝาดร้อน  ใช้บำรุงโลหิต  แก้กระษัย  แก้คุดทะราด  แก้ผื่นคัน  และขับปัสสาวะพิการ

เพลงประจำจังหวัด

เพลงมาร์ชชลบุรี

* เที่ยวชลบุรีสะดวกดีทางใกล้   คลื่นลมหาดทราย   แสนรื่นรมย์   สัตหีบ  ศรีราชา 
พัทยา   อ่าวอุดม   ผาแดง   พนัสนิคม   บางแสนเอย ... *
   
  ของดีเมืองชลทั่วทุกคนรู้ค่า  น้ำมัน  น้ำปลา  น้ำอ้อยดี
   อีกก๊าซธรรมชาติ  โชติชัชจากนที  ชื่อเสียงชลบุรีนี่เหนือใคร
   ทะเลสวยดี  อ่าวเวิ้งมีหลายอ่าว  แวะเยือนทุกคราวแสนเพลิดเพลิน
   เล่นน้ำกันสนุก  สิ้นทุกข์  สุขเหลือเกิน  ทรายขาว  ชายเนิน  โขดเขินไกล

(ซ้ำ *..............................*)
   
   สาวงามเมืองชล  แต่ละคนวิไล  ละมุนละไม  สวยต้องตา  อ่อนหวานปานน้ำอ้อย
   เรียบร้อยจริยา  งามพร้อมเพลินตาและน้ำใจ
   แม้กายแรงใจ  ฝากหัวใจไว้นี่  ชาวชลบุรีคงเมตตา
   ถิ่นนี้มีเสน่ห์  ห่างเหต้องหวนมา  ซาบซึ้งอุรากว่าทุกเมือง

(ซ้ำ *..............................*)


ที่ ตั้ง และอาณาเขต
Minimize
           จังหวัดชลบุรีตั้งอยู่ในภาคตะวันออกของ ประเทศไทย  หรือริมฝั่งทะเลตะวันออกของอ่าวไทย  ประมาณเส้นรุ้งที่ 12  องศา  30  ลิปดา-13 องศา  43 ลิปดาเหนือ  และเส้นแวงที่  100  องศา  45  ลิปดา-101 องศา 45  ลิปดาตะวันออก  ระยะทางจากกรุงเทพมหานครตามเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34 (ถนนสายบางนา-ตราด)  รวม ระยะทางประมาณ 81  กิโลเมตร  นอกจากนี้ยังมีเส้นทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 หรือ Motorway (กรุงเทพฯ-ชลบุรี) ระยะทาง 79 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาในการเดินทางประมาณ 45 นาทีเท่านั้น



          จังหวัดชลบุรีมีพื้นที่ทั้งสิ้น 2,726,875  ไร่ (4,363  ตารางกิโลเมตร) คิดเป็นร้อยละ 0.85 ของพื้นที่ประเทศไทย  (พื้นที่ของประเทศ ไทยประมาณ  320,696,875 ไร่  หรือ  513,115  ตารางกิโลเมตร)

ทิศเหนือ             ติดกับจังหวัดฉะเชิงเทรา
ทิศใต้                 ติดกับจังหวัดระยอง
ทิศตะวันออก       ติดกับจังหวัดฉะเชิงเทรา  จังหวัด จันทบุรี และจังหวัดระยอง
            ทิศตะวันตก         ติดกับชายฝั่งทะเลตะวันออกของอ่าวไทย


ประวัติ เมืองชล
Minimize
Show as single page

     จังหวัดชลบุรี เป็นดินแดนที่ปรากฏขึ้นมาในหน้าประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยทวารวดี  ขอม  และสุโขทัย  แต่เดิมเป็นเพียงเมืองเกษตรกรรมและชุมชนประมงเล็กๆหลายเมืองกระจัดกระจายกัน อยู่ห่างๆ โดยในทำเนียบศักดินาหัวเมืองสมัยอยุธยากำหนดให้ชลบุรีเป็นเมืองชั้นจัตวา  ส่วนแผนที่ไตรภูมิก็มีชื่อตำบลสำคัญของชลบุรีปรากฏอยู่  เรียงจากเหนือลงใต้  คือ เมืองบางทราย  เมืองบางปลาสร้อย  เมืองบางพระเรือ  (ปัจจุบันคือบางพระ) และเมืองบางละมุง  แม้ว่าจะเป็นเพียงเมืองเล็กๆ แต่ก็อุดมไปด้วยทรัพยากรทั้งบนบกและในทะเล  มีการทำไร่  ทำนา ทำสวน  และออกทะเลมาแต่เดิม  นอกจากนี้ยังมีการติดต่อกับชาวจีนที่ล่องเรือสำเภาเข้ามาค้าขายกับกรุงสยาม ด้วย
ดินแดนที่เรียกว่าจังหวัดชลบุรี   มีผู้คนอาศัยอยู่มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์แล้ว   คือสามารถย้อนไปได้จนถึงยุคหินขัด  เช่น บริเวณที่ลุ่มริมฝั่งแม่น้ำพานทองเคยมีมนุษย์ยุคหินใหม่อาศัยอยู่ โดยชนกลุ่มนี้นิยมใช้ขวานหินขัดเพื่อการเก็บหาล่าไล่ รวมถึงใช้ลูกปัดและกำไล ภาชนะเครื่องปั้นดินเผาซึ่งมีลายที่เกิดจากการใช้เชือกทาบลงไปขณะดินยังไม่ แห้ง  นอกจากนี้ยังพบเศษอาหารทะเลพวกหอย  ปู  และปลาอีกด้วย   เมื่อปี พ.ศ. 2522 ได้มีการขุดสำรวจที่ตำบลพนมดี อำเภอพนัสนิคม พบร่องรอยของชุมชนโบราณก่อนประวัติศาสตร์โคกพนมดี  ทำให้สันนิษฐานได้ว่า  ภายในเนื้อที่ 4,363 ตารางกิโลเมตรของชลบุรี  อดีตเคยเป็นที่ตั้งเมืองโบราณที่มีความรุ่งเรืองถึง 3 เมือง  ได้แก่  เมือง พระรถ  เมืองศรีพโล  และ เมืองพญาแร่  โดยอาณาเขตของ 3 เมืองนี้รวมกันเป็นจังหวัดชลบุรีในปัจจุบัน
เมืองพระรถ

ในสมัยทวารวดีและสมัยลพบุรี ประมาณ 1,400-700 ปีก่อน บริเวณตำบลหน้าพระธาตุ อำเภอพนัสนิคมในปัจจุบัน มีร่องรอยของเมืองใหญ่ชื่อ “เมืองพระรถ” ตั้งอยู่ในที่ราบลุ่มซึ่งแม่น้ำหลายสายไหลมาบรรจบกันเป็นแม่น้ำพานทอง โดยสามารถใช้แม่น้ำสายนี้เป็นทางคมนาคมติดต่อกับเมืองศรีมโหสถในจังหวัด ปราจีนบุรี (ปัจจุบันคือบริเวณบ้านสระมะเขือ  บ้านโคกวัด และบ้านหนองสะแก อำเภอศรีมโหสถ)  จนไปถึงอำเภออรัญประเทศได้  อีกทั้งยังมีเส้นทางเดินเท้าเชื่อมไปถึงจังหวัดระยองและจันทบุรี  ผ่านเมืองพญาเร่ซึ่งเป็นเมืองโบราณสำคัญอีกแห่งหนึ่งของชลบุรี  เมืองพระรถจึงกลายเป็นศูนย์กลางการคมนาคมของชลบุรีในยุคนั้น
นอกจากนี้  นักโบราณคดียังสำรวจพบว่าเมืองพระรถเป็นเมืองโบราณยุคเดียวกับเมืองศรีพโล หรือเก่ากว่าเล็กน้อย  เนื่องจากปรากฏว่ามีทางเดินโบราณเชื่อมต่อสองเมืองนี้ในระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร

เมืองศรีพโล

“เมืองศรีพโล” ตั้งอยู่บริเวณบ้านอู่ตะเภา ตำบลหนองไม้แดง อำเภอเมืองชลบุรี หน้าเมืองมีอาณาเขตจรดตำบลบางทรายในปัจจุบัน  เคยมีผู้ขุดพบโบราณวัตถุหลายอย่าง เช่น พระพุทธรูปทองคำ สัมฤทธิ์ แก้วผลึก ขันทองคำ ถ้วยชามสังคโลกคล้ายของสุโขทัย จระเข้ปูน และก้อนศิลามีรอยเท้าสุนัข เป็นต้น นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าเมืองศรีพโลเป็นเมืองในสมัยขอมเรืองอำนาจแห่งภูมิ ภาคอุษาคเนย์ และอาจจะมีอายุร่วมสมัยกับลพบุรีซึ่งอยู่หลังยุคอู่ทอง  และก่อนยุคอยุธยาคือประมาณปี พ.ศ. 1600-1900

จากการขุดค้นทางโบราณคดีทำให้ทราบว่า  ตัวเมืองศรีพโลตั้งอยู่ใกล้กับปากน้ำบางปะกง  โดยเมื่อประมาณ 600 ปีก่อนในสมัยสุโขทัย  เมืองนี้มีฐานะเป็นเมืองท่าชายทะเลที่มั่งคั่ง  เปิดรับเรือสำเภาจากจีน กัมพูชา และเวียดนาม ให้มาจอดพักก่อนเดินทางต่อไปยังปากน้ำเจ้าพระยา (เป็นที่น่าเสียดายว่ากำแพงเมืองศรีพโลได้ถูกทำลายไปหมดสิ้นจากการก่อสร้าง ถนนสุขุมวิท จึงไม่เหลือร่องรอยทางโบราณคดีไว้ให้ศึกษา)  ต่อมาในสมัยอยุธยาเมืองศรีพโลก็ค่อยๆหมดความสำคัญลง อาจเพราะปากแม่น้ำตื้นเขินจากการพัดพาสะสมของตะกอนจำนวนมหาศาล  ประชาชนจึงย้ายถิ่นฐานลงมาสร้างเมืองใหม่ที่ “บางปลาสร้อย” ซึ่งก็คือ “เมืองชลบุรี” ในปัจจุบัน (วัดใหญ่อินทารามในตัวเมืองชลบุรีปัจจุบัน ยังปรากฏภาพจิตรกรรมฝาผนังการค้าขายระหว่างคนไทย จีน  และฝรั่ง  บ่งบอกถึงบรรยากาศการค้าขายอันคึกคักในอดีต)

เมืองพญาเร่

“เมืองพญาเร่” ตั้งอยู่ในเขตตำบลบ่อทอง  อำเภอบ่อทอง เป็นเมืองยุคทวารวดีเช่นเดียวกับเมืองพระรถ  เมืองนี้ตั้งอยู่ในเขตที่สูง ห่างจากเมืองพระรถประมาณ 32 กิโลเมตร ลักษณะผังเมืองเป็นรูปวงรี 2 ชั้น ชั้นแรกมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1,100 เมตร ส่วนชั้นในประมาณ 600 เมตร โดยคูเมืองและคันดินของตัวเมืองชั้นนอกทางด้านเหนือยังคงปรากฏเห็นได้ชัดเจน ในปัจจุบัน

เมืองพญาเร่มีการติดต่อกับเมืองพระรถอยู่เนืองๆโดยใช้คลองหลวงเป็นเส้นทาง สัญจร  ปัจจุบันลำคลองนี้ยังคงอยู่  โดยเป็นคลองสายสำคัญและมีความยาวที่สุดของจังหวัดชลบุรี   ทุกวันนี้การทำนาในอำเภอพนัสนิคมและอำเภอพานทอง  ยังคงอาศัยน้ำจากคลองนี้  เนื่องจากมีแควหลายสายแตกสาขาออกไป  แควใหญ่ที่สุด  คือ  แควที่เกิดจากทิวเขาป่าแดง

สมัยกรุงศรีอยุธยา

เมืองชลบุรีปรากฏเป็นหลักฐานในทำเนียบศักดินาหัวเมือง ตราเมื่อ พ.ศ. 1919 มีฐานะเป็นเมืองจัตวา ผู้รักษาเมืองคือ “ออกเมืองชลบุรี ศรีมหาสมุทร” ศักดินา 2,400 ไร่ ส่งส่วยไม้แดง ในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราช (ขุนหลวงพะงั่ว) ในปี พ.ศ. 2309 ขณะที่กรุงศรีอยุธยาถูกทัพพม่าล้อมอยู่นั้น กรมหมื่นพิพิธซึ่งเป็นพระเจ้าลูกยาเธอองค์หนึ่งในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ หัวบรมโกศ แต่ถูกเนรเทศไปลังกา ได้กลับมาเกลี้ยกล่อมรวบรวมชายฉกรรจ์ทางหัวเมืองภาคตะวันออก ได้แก่ จันทบุรี ระยอง บางละมุง ชลบุรี และปราจีนบุรี เข้าร่วมกองทัพ  อ้างว่าจะยกไปช่วยกรุงศรีอยุธยารบพม่า ในครั้งนั้นชาวชลบุรีได้ให้การสนับสนุนเข้าร่วมทัพเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งเมืองชลบุรีแทบจะกลายเป็นเมืองร้าง

เมื่อกรมหมื่นเทพพิพิธยกไพร่พลไป ตั้งมั่นที่ปราจีนบุรีแล้ว  จึงมีหนังสือกราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัวเอกทัศน์ ณ กรุงศรีอยุธยา ขออาสาช่วยป้องกันพระนคร แต่พระเจ้าอยู่หัวเอกทัศน์ทรงพระราชดำริว่า กรมหมื่นเทพพิพิธเป็นคนมักใหญ่ใฝ่สูงจนถูกเนรเทศมาแล้วครั้งหนึ่ง การที่มาเรียกระดมผู้คนเข้าเป็นกองทัพโดยพลการครั้งนี้ก็เป็นการทำผิดกฎมณ เทียรบาล จึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกกองทัพจากกรุงศรีอยุธยาไปปราบกรมหมื่นเทพพิพิธจนบอบช้ำ จากนั้นพม่ายังได้ส่งกองทัพเข้าโจมตีกองทัพกรมหมื่นพิพิธจนแตกพ่าย  จนกระทั่งกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าเมื่อ พ.ศ. 2310 ชาวชลบุรีได้ให้ความร่วมมือกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในการกอบกู้อิสรภาพ อย่างใกล้ชิด  จนสามารถกอบกู้เอกราชกลับคืนมาได้สำเร็จ



สมัยกรุงรัตโกสินทร์

สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 พระอินทอาษาชาวเมืองเวียงจันทน์  ได้พาชาวลาวจำนวนหนึ่งอพยพเข้ามาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร พระองค์จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ไปตั้งถิ่นอาศัยอยู่ระหว่างเมืองชลบุรีและฉะเชิงเทรา (บริเวณเมืองพนัสนิคมในปัจจุบัน)  ครั้นต่อมาสมัยรัชกาลที่ 4-6  พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ของสยาม  ได้เสด็จประพาสชลบุรีหลายหน เนื่องจากชลบุรีเป็นเมืองชายทะเลที่มีทัศนียภาพงดงาม  เหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจ  อีกทั้งไม่ไกลจากกรุงเทพมหานครมากนัก

จนถึงปี พ.ศ. 2350 พระสุนทรโวหาร (สุนทรภู่)  รัตนกวีของไทย ได้เดินทางจากกรุงเทพมหานคร ไปเยี่ยมบิดาที่เมืองแกลง จังหวัดระยอง ได้เขียนไว้ในนิราศเมืองแกลงกล่าวถึงเมืองต่างๆ เมื่อเข้าถึงเขตจังหวัดชลบุรีตามลำดับจากเหนือไปใต้  คือ บางปลาสร้อย  หนองมน  บ้านไร่  บางพระ  บางละมุง  นาเกลือ  พัทยา  นาจอมเทียน  ห้วยขวาง  และหนองชะแง้ว (ปัจจุบันเรียกบ้านชากแง้ว อยู่ในเขตอำเภอบางละมุง ซึ่งเป็นทางที่จะไปอำเภอแกลง จังหวัดระยองได้)

ในช่วง พ.ศ. 2437 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองราชอาณาจักรที่เป็นหัวเมืองเล็กๆแบบโบราณ ยุบรวมเข้าด้วยกัน ให้อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของกระทรวงมหาดไทยหน่วยงานเดียว  ดังมีบันทึกว่า “รวม หัวเมืองทางลำน้ำบางปะกง คือ เมืองปราจีนบุรี 1 เมืองนครนายก 1 เมืองพนมสารคาม 1 เมืองฉะเชิงเทรา 1 รวม 4 หัวเมือง เป็นเมืองมณฑล 1 เรียกว่า มณฑลปราจีน” ตั้งที่ว่าการมณฑล ณ เมืองปราจีน ต่อเมื่อโอนหัวเมืองในกรมท่ามาขึ้นกระทรวงมหาดไทย จึงย้ายที่ทำการมณฑลลงมาตั้งที่เมืองฉะเชิงเทรา  เพราะขยายอาณาเขตมณฑลต่อลงไปทางชายทะเล รวมเมืองพนัสนิคม เมืองชลบุรี  และเมืองบางละมุง  เพิ่มให้อีก 3 รวมเป็น 7 เมืองด้วยกัน แต่คงเรียกชื่อว่ามณฑลปราจีนอยู่ตามเดิม

ครั้นถึงช่วงปี พ.ศ. 2458 ในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้ทรงรวมมณฑลจัดตั้งขึ้นเป็น “ภาค” โดยมีอุปราชเป็นผู้ปกครอง  มีอำนาจเหนือสมุหเทศาภิบาล มีด้วย กัน 4 ภาค คือ ภาคพายัพ ภาคปักษ์ใต้ ภาคอีสาน และภาคตะวันตก สำหรับภาคกลางให้คงเป็นมณฑลอยู่อย่างเดิม เรียกว่ามณฑลอยุธยา มีอุปราชปกครองแทนสมุหเทศาภิบาล การปกครองหัวเมืองแบบแบ่งเป็นภาคและมีตำแหน่งอุปราชเช่นนี้ยกเลิกเมื่อวัน ที่ 31 มีนาคม 2468 ในสมัยรัชกาลที่ 7 โดยกลับไปใช้ในลักษณะเป็นมณฑลอย่างเดิม ในลักษณะที่มีจำนวนมากถึง 20 มณฑล และภายใน 10 ปีต่อมา คือก่อน พ.ศ. 2475 ได้ยุบลงเหลือเพียง 10 มณฑลเป็นครั้งสุดท้าย



สรุปความเป็นมาของจังหวัดชลบุรี

1. ยุคก่อนกรุงศรีอยุธยา  พื้นที่ซึ่งปัจจุบันเป็นจังหวัดชลบุรีมีเมืองศรีพโลและเมืองพระรถตั้งอยู่ แล้ว โดยทุกวันนี้ยังมีหลักฐานความเป็นเมืองบางอย่างปรากฏชัดอยู่

2. ยุคกรุงศรีอยุธยา  เมืองศรีพโลและเมืองพระรถอาจเสื่อมไปแล้ว  และมีชุมชนที่รวมกันอยู่หลายจุด ในลักษณะเป็นบ้านเมือง  อาทิ  บางทราย  บางปลาสร้อย  บางพระเรือ  บางละมุง  ฯลฯ

3. ยุคกรุงรัตนโกสินทร์  แบ่งเป็น 3 ช่วงย่อยๆ  ได้แก่

ช่วงแรก
(ก่อน พ.ศ. 2440 หรือ ร.ศ. 115) ช่วงนี้จังหวัดชลบุรียังไม่เกิดขึ้น  แต่ได้มีเมืองต่างๆ ในพื้นที่เกิดขึ้นแล้ว  คือ  เมืองบางปลาสร้อย  เมืองพนัสนิคม  และเมืองบางละมุง

ช่วงสอง (หลัง พ.ศ. 2440-2475) ขณะนั้นคำว่า “จังหวัด” มีใช้แห่งเดียวในราชอาณาจักร คือ จังหวัดกรุงเทพมหานคร เข้าใจว่าคำว่า “เมือง ชลบุรี” มีชื่อเรียกในช่วงนี้ โดยมีอำเภอเมืองบางปลาสร้อย (ที่ตั้งตัวเมือง) อำเภอพานทอง  อำเภอบางละมุง  และอำเภอพนัสนิคม  อยู่ในเขตการปกครองระยะต้น     ต่อมาในระยะหลังปี พ.ศ. 2460  จึงมีอำเภอศรีราชาและอำเภออื่นๆ     เกิดขึ้นรวมกันอยู่ในเขตเมืองชลบุรี

ช่วงสาม (ตั้งแต่ พ.ศ. 2475 จนถึงปัจจุบัน) มีการเปลี่ยนแปลงรูปการปกครองประเทศครั้งใหญ่ จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบอบประชาธิปไตย  โดยพระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 ได้ยกเลิกเขตการปกครองแบบ “เมือง” ทั่วราชอาณาจักร  แล้วตั้งขึ้นเป็น “จังหวัด” แทน โดยมีข้าหลวงประจำจังหวัดเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชา เมืองชลบุรีจึงกลายเป็นจังหวัดชลบุรี  และเปลี่ยนข้าหลวงประจำจังหวัดเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด
วิถี ชีวิตและเศรษฐกิจ
Minimize
ชลบุรี  เมืองชายทะเลที่ได้รับการกล่าวขานมากที่สุดแห่งบูรพาทิศ  ดินแดนชายทะเลอันมั่งคั่งแห่งนี้  ได้ผันผ่านกาลเวลามาเนิ่นนาน  จากการเป็นเมืองท่าค้าขายคึกคักในอดีต  พัฒนามาสู่เมืองเกษตร  อุตสาหกรรม  และท่องเที่ยว  สิ่งนี้อาจสะท้อนคุณลักษณะสำคัญของคนเมืองชล  ซึ่งมีความขยันและมองการไกล  กอปรกับทรัพย์ในดินสินในน้ำ  ต่างช่วยกันเอื้ออำนวยให้การพัฒนาในด้านต่างๆ  เป็นไปอย่างสะดวกราบรื่นและต่อเนื่อง

ปัจจุบันชลบุรีมีประชากรประมาณ  1,233,446  คน  ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผู้โยกย้ายเข้ามาทำงานในภาคอุตสาหกรรมต่างๆที่ขยาย ตัวอย่างต่อเนื่อง  ทว่าเมื่อพูดถึงผู้คนพื้นถิ่นจริงๆของชลบุรีแล้ว  จะพบว่าคนชลบุรีมีอาชีพผูกพันอยู่กับท้องทะเล  นาไร่  ทำปศุสัตว์  และทำเหมืองแร่  โดยลักษณะนิสัยของคนเมืองชลดั้งเดิมได้ชื่อว่าเป็นคนจริง  ใช้ชีวิตเรียบง่าย  ประหยัดอดออม  เอาการเอางาน  หนักเอาเบาสู้  มีความเป็นมิตร  และพร้อมต้อนรับผู้มาเยือนเสมอ  แม้ทุกวันนี้สภาพบ้านเมืองของชลบุรีจะเจริญรุดหน้าไปมาก  อีกทั้งมีผู้คนต่างถิ่นโยกย้ายเข้ามาอาศัยผสมกลมกลืนกับชนดั้งเดิม  ทว่าคนเมืองชลก็ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมและประเพณีอันดีงามของตนเอาไว้อย่าง เหนียวแน่น  สะท้อนออกมาในรูปแบบงานเทศกาลประจำปีต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นงานบุญกลางบ้านและงานเครื่องจักสานพนัสนิคม  งานประเพณีวันไหล (งานก่อพระทรายวันไหล)  ในช่วงหลังวันสงกรานต์  งานประเพณีกองข้าวอำเภอศรีราชา  งานประเพณีวิ่งควายอันคึกคักสนุกสาน  รวมถึงงานแห่พระพุทธสิหิงค์และงานกาชาดชลบุรี  เป็นต้น  เหล่านี้ล้วนแสดงให้ประจักษ์ถึงเอกลักษณ์ความโดดเด่นของคนชลบุรีได้อย่าง ชัดเจน

คนเมืองชลในปัจจุบันนับถือศาสนาพุทธมากถึง 97 เปอร์เซ็นต์  ส่วนที่เหลือนับถือศาสนาคริสต์  อิสลาม  และอื่นๆ  โดยผสมผสานความเชื่อความศรัทธาในสิ่งศักดิ์สิทธิ์เข้าไว้ในศาสนาที่ตนนับถือ ด้วย   เช่น  เมื่อถึงช่วงเทศกาลกินเจประมาณเดือนตุลาคมของทุกปี  ผู้คนที่ศรัทธาก็จะพากันนุ่งขาวห่มขาว  งดการบริโภคเนื้อสัตว์  แล้วเดินทางไปร่วมสวดมนต์บำเพ็ญทานยังโรงเจต่างๆทั่วจังหวัดชลบุรี   หรืออีกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ  คนเมืองชลมักเดินทางไปที่เขาสามมุข  เพื่อสักการะและขอพรจากเจ้าแม่สามมุข  บริเวณเขาสามมุขซึ่งไม่ห่างจากหาดบางแสนและอ่างศิลา  สองตัวอย่างนี้คือความเชื่อของชาวจีนที่ผสานรวมเป็นเนื้อเดียวกับความศรัทธา ท้องถิ่น  จนไม่สามารถแยกออกจากกันได้

ชลบุรีเป็นย่านชุมชนจีนที่ใหญ่ที่ สุดในภาคตะวันออก คนจีนในชลบุรีส่วนใหญ่เป็นเชื้อสายแต้จิ๋ว ซึ่งเชี่ยวชาญการค้าและมีบทบาทสำคัญในเรื่องเศรษฐกิจ  ประมง  อุตสาหกรรม เกษตรกรรม  และเข้ามาตั้งถิ่นฐานในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ 2-3) อยู่แถบชายทะเลเมืองบางปลาสร้อย ทำการค้าและประมงอย่างกว้างขวางจนมีเหลือส่งออกไปยังต่างประเทศ อีกทั้งเป็นผู้นำอ้อยเข้ามาปลูก และริเริ่มอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายแถบอำเภอบ้านบึง  อำเภอพานทอง และอำเภอพนัสนิคม  ส่วนคนจีนที่อพยพเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 5 มักทำอาชีพปลูกผักและเลี้ยงเป็ดอยู่ในบริเวณเดียวกัน  สำหรับชนชาวลาวนั้นอพยพเข้ามาช่วงรัชกาลที่ 3  มีอาชีพทำไร่ ทำนา  และมีความสามารถพิเศษในการทำหัตถกรรมจักสาน ส่วนชาวมุสลิมอพยพเข้ามาตั้งแต่สมัยอยุธยา ปัจจุบันมีอาชีพทำสวนผลไม้  ไร่มันสำปะหลัง  และค้าขายในตลาด  เป็นกลุ่มที่เคร่งครัดในประเพณีและศาสนา

ทุกวันนี้  ชลบุรีได้ก้าวย่างผ่านยุคแห่งการพัฒนา  จนสามารถบรรลุถึงความเพียบพร้อม  ทั้งในแง่ของทรัพยากรธรรมชาติ  การท่องเที่ยว  อุตสาหกรรม  การเกษตร  วิถีชีวิต  และสามารถรักษาวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่นไว้ได้อย่างสมบูรณ์   กลายเป็นเมืองชายทะเลที่มีเสน่ห์  น่าเที่ยว  น่าลงทุน  และมีความปลอดภัยสูง

ศักยภาพและความโดดเด่นในหลายด้านของเมืองชลทั้งหมดดังกล่าว  จึงกลายเป็นต้นทุนที่มั่งคั่งเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง  ส่งผลให้ชลบุรีกลายเป็น  “เพชรน้ำเอกแห่งบูรพาทิศ”  ที่พร้อมเปิดประตูออกสู่สังคมโลกได้อย่างสมภาคภูมิ